สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

การให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ



แนวทางการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ
พ.ศ. 2554 


การขอรับเงินอุดหนุนบริการ สาธารณะต้องดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2554 นี้เท่านั้น 

1.  ขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนฯ

1.1 รัฐวิสาหกิจจัดทำข้อเสนอการขอรับเงินอุดหนุนทางการเงินพร้อมระบบบัญชีซึ่งแยกเป็นบัญชีเชิงพาณิชย์ และบัญชี การให้บริการ
สาธารณะ โดยแต่ละบัญชีประกอบด้วยงบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด เสนอกระทรวงเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบ และ
นำเสนอคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะพิจารณาไม่น้อยกว่า 10 เดือน ก่อนเริ่มปีงบประมาณ (ภายในเดือนพฤศจิกายน)
หากยื่นข้อเสนอล่วงเลยระยะเวลาดังกล่าวให้เสนอในปีงบประมาณถัดไป
1.2 คณะอนุกรรมการพิจารณาเงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจพิจารณาข้อเสนอและวงเงินอุดหนุน จากนั้นนำเสนอ
คณะกรรมการฯ เพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบ
1.3 รัฐวิสาหกิจจัดทำรายละเอียดวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีตามวิธี
การและขั้นตอนการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี
1.4 คณะกรรมการฯ จัดทำบันทึกข้อตกลงการให้บริการสาธารณะกับรัฐวิสาหกิจก่อนที่รัฐวิสาหกิจจะได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณ
1.5 รัฐวิสาหกิจจัดทำรายงานผลการให้บริการสาธารณะ ตามแบบรายงานผลฯ ที่คณะกรรมการฯ กำหนด ดังนี้

- งวดครึ่งปี  ให้รัฐวิสาหกิจจัดทำรายงานผลภายใน 30 วันหลังจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สอบทานงบการเงินแล้วเสร็จ
เสนอต่อกระทรวงเจ้าสังกัด เพื่อพิจารณาเสนอคณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบ
- งวดประจำปี ให้รัฐวิสาหกิจจัดทำรายงานผลภายใน 45 วันหลังจาก สตง. รับรองงบการเงินเสนอต่อกระทรวงเจ้าสังกัด เพื่อพิจารณา
เสนอคณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบ
   

2.  การจัดทำข้อเสนอการขอรับเงินอุดหนุนทางการเงิน

ให้รัฐวิสาหกิจจัดทำข้อเสนอการขอรับเงินอุดหนุนทางการเงิน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
2.1 ลักษณะของสินค้าหรือบริการและปริมาณในการให้บริการสาธารณะ
2.2 กลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นผู้ใช้สินค้าหรือบริการ
2.3 วัตถุประสงค์และนโยบายที่จะดำเนินการในการให้บริการสาธารณะ
2.4 ประมาณการต้นทุนการให้บริการสาธารณะ โดยระบุถึงหลักการและวิธีการคำนวณต้นทุนที่ใช้รายละเอียดของระบบบัญชี และจัดทำ
แผนงานต้นทุนตามฐานกิจกรรม (Activity-Based Costing)
2.5 กำหนดการขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
2.6 ผลที่คาดว่าจะได้รับ รวมทั้งตัวชี้วัดหรือผลสัมฤทธิ์ของบริการสาธารณะ
2.7 ความพร้อมและความคุ้มค่าของโครงการ
2.8 ความเสี่ยงของการดำเนินงานและแผนการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
2.9 ความเกี่ยวข้องกับกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และกฎหมาย
2.10 แผนกลยุทธ์การปรับปรุงการดำเนินงานให้รัฐวิสาหกิจเข้าสู่ความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ที่จะทำให้บริการสาธารณะมีประสิทธิภาพ
2.11 ให้กำหนดจำนวนเงินที่เป็นส่วนต่างของค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงว่าด้วยการ กำหนดอัตราและเงื่อนไขการเรียกเก็บดอกเบี้ย
และค่าธรรมเนียมการให้กู้ต่อ ของกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2551 เป็นส่วนหนึ่งของวงเงินที่ได้รับการอุดหนุน โดยในการคำนวณเงินตรา
ต่างประเทศสกุลใดเป็นเงินบาท ให้คำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่คิดค่าธรรมเนียม
การให้กู้ต่อ


3.  หลักเกณฑ์ทางบัญชีของการให้บริการสาธารณะ

3.1  ให้รัฐวิสาหกิจที่ประสงค์จะขอรับเงินอุดหนุน แยกระบบบัญชีออกเป็น 2 ส่วน คือ บัญชีเชิงพาณิชย์และบัญชีการให้บริการสาธารณะ
โดยแต่ละบัญชีจะประกอบด้วยงบการเงิน 3 ประเภท คือ  งบดุล งบกำไรขาดทุนและงบกระแสเงินสด ดังนี้

      (1) รายได้จากการให้บริการสาธารณะ ประกอบด้วย

  • รายได้ทางตรงจากการให้บริการสาธารณะ = อัตราค่าบริการต่อหน่วย (ที่รัฐกำหนด) X จำนวนหน่วยให้บริการที่ระบุได้ชัดเจนว่าเกิดจาก
    บริการสาธารณะ 
  • รายได้อื่นๆ ที่เป็นผลพลอยได้จากการให้บริการสาธารณะ (ไม่นับรวมในการพิจารณาเงินอุดหนุนฯ)

      (2) ค่าใช้จ่ายจากการให้บริการสาธารณะ ประกอบด้วย

  • ค่าใช้จ่ายทางตรงจากการให้บริการสาธารณะ หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ระบุได้ชัดเจนว่าเกิดจากการให้บริการสาธารณะ
  • ค่าใช้จ่ายทางอ้อม หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจากการให้บริการสาธารณะที่ไม่สามารถแยกอย่างชัดเจน
    ให้ใช้การปันส่วนต้นทุนตามเกณฑ์การจัดสรรตามต้นทุนฐานกิจกรรม

      (3) สินทรัพย์และหนี้สินของการให้บริการเชิงพาณิชย์และบริการสาธารณะ ประกอบด้วย

  • สินทรัพย์และหนี้สินเพื่อการบริการสาธารณะ หมายถึง สินทรัพย์และหนี้สินที่ระบุได้ชัดเจนว่าใช้ในการบริการสาธารณะ
    โดยให้ใช้มูลค่าตามงบการเงิน
  • สินทรัพย์และหนี้สินเพื่อการให้บริการทั่วไปและเชิงพาณิชย์ หมายถึง สินทรัพย์และหนี้สินที่ใช้ในการดำเนินงานทั่วไป
    ให้ใช้มูลค่าตามงบการเงิน หากไม่สามารถแยกมูลค่าได้อย่างชัดเจน ให้ใช้การปันส่วนมูลค่าตามเกณฑ์การจัดสรรตามต้นทุน
    ฐานกิจกรรม
3.2 การคำนวณต้นทุนการบริการสาธารณะให้ใช้หลักการ Avoidable Costing หรือต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ ซึ่งเป็นต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับ
โครงการบริการสาธารณะที่ขอรับการอุดหนุนเท่านั้น และให้เปรียบเทียบกับต้นทุนมาตรฐานของการดำเนินงานในธุรกิจประเภทนั้น
ในกรณีที่ต้นทุนมาตรฐานดังกล่าวไม่มีความเหมาะสม รัฐวิสาหกิจอาจใช้ต้นทุนของการดำเนินงานสาธารณะเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี
เป็นค่าเปรียบเทียบแทน

4.  บันทึกข้อตกลงการให้บริการสาธารณะ ให้รัฐวิสาหกิจจัดทำบันทึกข้อตกลงการให้บริการสาธารณะ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
4.1  ชื่อโครงการบริการสาธารณะ
4.2  รายละเอียด “ฝ่ายผู้ให้ความตกลง” คือ คณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ โดยประธานคณะกรรมการฯ และสำนักงบประมาณ
โดยผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกับ “ฝ่ายผู้รับความตกลง” คือ กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจ โดยปลัดกระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจโดยประธานกรรมการของรัฐวิสาหกิจและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจนั้น
4.3  ขอบเขตการดำเนินงานและข้อจำกัดการให้บริการ
       (1)  ลักษณะและปริมาณของสินค้าหรือบริการสาธารณะที่เสนอ
       (2)  กลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นผู้ใช้สินค้าหรือบริการ
       (3)  ระยะเวลาการดำเนินงานตามโครงการ
       (4)  งบการเงินที่เสนอ ประกอบด้วย บัญชีเชิงพาณิชย์และบัญชีการให้บริการ
       (5)  ข้อจำกัดการให้บริการ
4.4  วัตถุประสงค์และนโยบายที่จะดำเนินการในการให้บริการสาธารณะ
4.5  ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการให้บริการสาธารณะ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
4.6  วิธีการในการกำกับดูแลและประเมินผล และดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานหรือผลสัมฤทธิ์ของบริการสาธารณะ
4.7  แผนกลยุทธ์การปรับปรุงการดำเนินงานให้รัฐวิสาหกิจเข้าสู่ความเป็นเลิศในด้านต่างๆ
4.8  เงื่อนไขและวิธีการจ่ายเงินอุดหนุน
       (1)  วงเงินงบประมาณที่จะได้รับการอุดหนุน
       (2)  ระยะเวลาที่จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ
       (3)  วิธีเบิกจ่ายเงินอุดหนุน
       (4)  เงื่อนไขเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินอุดหนุน ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามที่ได้ตกลง
ไว้ โดยรัฐวิสาหกิจต้องทำเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมรายละเอียดและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
       (5)  เงื่อนไขให้รัฐวิสาหกิจนำเงินอุดหนุนส่วนเกินส่งคืนคลัง โดยในกรณีผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจเมื่อสิ้นปี งบประมาณประสบ
ผลขาดทุน จากการให้บริการสาธารณะมีมูลค่าการขาดทุนต่ำกว่าที่ได้ประมาณการไว้
 4.9  การเปิดเผยข้อมูลและการรายงานผลการดำเนินงานในการให้บริการสาธารณะ

5.  แบบรายงานผลการให้บริการสาธารณะ
ให้รัฐวิสาหกิจจัดทำแบบรายงานผลการให้บริการสาธารณะ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
5.1  รายละเอียดของการให้บริการสาธารณะ ครอบคลุมถึง วัตถุประสงค์ของโครงการ นโยบายที่จะดำเนินการ ลักษณะของสินค้าหรือบริการ และปริมาณในการให้บริการสาธารณะ รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นผู้ใช้บริการของโครงการ    
5.2  ข้อมูลสถิติ และผลการให้บริการสาธารณะ ซึ่งแสดงถึงข้อมูลสถิติในระยะเวลา 5 ปี ย้อนหลัง
5.3  ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการให้บริการสาธารณะ ซึ่งระบุรายละเอียดของต้นทุน โดยเปรียบเทียบกับผลตามบันทึกข้อตกลงฯ
5.4  ผลการดำเนินงานตามดัชนีชี้วัดของการจัดทำบันทึกข้อตกลงการให้บริการสาธารณะ โดยเปรียบเทียบผลผลิต/ผลลัพธ์และผลกระทบโครงการตามบันทึกข้อตกลงฯ กับผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริง
5.5  ผลการประเมินประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณะตามแผนกลยุทธ์การปรับปรุงการดำเนินงานให้เข้าสู่ความเป็นเลิศ
5.6  เงื่อนไขและจำนวนเงินที่ได้รับการอุดหนุนทางการเงิน โดยระบุรายละเอียด การได้รับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ
5.7  รายละเอียดอื่นๆ โดยเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมอื่นที่รัฐวิสาหกิจมีความประสงค์จะรายงานเพิ่มเติม 

เอกสารแนบ


Download แบบฟอร์ม 

นโยบายเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ |
นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
chevron up